Friday, September 6, 2013

หน้าแรก


หนังสือพิมพ์ในประเทศไทยเริ่มมีวิวัฒนาการมาตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยมีกลุ่มมิชชันนารีชาวอเมริกันเป็นเจ้าของและบรรณาธิการ ซึ่งหมอสอนศาสนาชาวอเมริกันชื่อ แดน บี บรัดเลย์ ( Dan B. Bradley) เป็นผู้ริเริ่มออกหนังสือพิมพ์ฉบับแรกชื่อ จดหมายเหตุบางกอก ( Bangkok Recorder) มีวัตถุประสงค์ส่วนหนึ่งเพื่อเผยแพร่คริสต์ศาสนาในประเทศไทย แต่ได้ออกเผยแพร่เพียง2ปีก็หยุดพิมพ์ไป กระทั่งในสมัยรัชกาลที่ 4 จึงเริ่มออกหนังสือพิมพ์ในชื่อเดิม คือ Bangkok Recorder อีกครั้งหนึ่ง




ในยุคเริ่มแรก หนังสือพิมพ์ยังเป็นสิ่งที่ใหม่มากในสังคมไทย คนไทยส่วนใหญ่ยังไม่คุ้นเคยกับการเสนอข่าวสารความคิดเห็นที่ค่อนข้างเป็นอิสระและเปิดเผยมากเมื่อเปรียบเทียบกับวัฒนธรรมประเพณีของไทยในยุคสมัยนั้น หนังสือพิมพ์ในช่วงปลายรัชกาลที่ 4 จนถึงรัชกาลที่ 5 ยังยังคงนิยมอย่างจำกัดในแวดวงเจ้านายชั้นสูง กลุ่มผู้บริหารประเทศ และผู้ได้รับการศึกษาจากตะวันตกเท่านั้น

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 เริ่มมีหนังสือพิมพ์ภาษาไทยฉบับแรก ที่เผยแพร่สู่ประชาชน ชื่อ ดรุโณวาท ความสนใจก็ได้ขยายไปในหมู่สามัญชนที่มีความสนใจในกิจการบ้านเมืองมากขึ้น ในยุคนี้วงการหนังสือพิมพ์เริ่มตื่นตัวมาก จนมีการออกหนังสือพิมพ์มากถึง 59 ฉบับ และในปลายสมัยรัชกาลที่5ได้มีการออกหนังสือพิมพ์ โดยสามัญชนเป็นครั้งแรกชื่อ สยามประเภท  โดย ก.ศ.ร. กุหลาบ และเทียนวรรณ มีเนื้อหาเชิงเยาะเย้ยถากถางสังคมและล้อเลียนการเมืองซึ่งได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก





กิจการหนังสือพิมพ์ในรัชสมัยรัชกาลที่ 6 เจริญรุ่งเรืองอย่างรวดเร็ว หนังสือพิมพ์สามารถวิพากษ์วิจารณ์การบริหารประเทศของรัฐบาลและเสนอความคิดเห็นได้อย่างเสรี ประชาชนเริ่มหันมาให้ความสนใจกับเหตุการณ์บ้านเมืองมากขึ้น มีทั้งหนังสือพิมพ์ภาษาไทย เช่น จีนโนสยามวารศัพท์ หนังสือพิมพ์ไทย กรุงเทพเดลิเมล์ และหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษ เช่น The Bangkok Times





แต่อย่างไรก็ตามในสมัยรัชกาลที่ 6 ความรุ่งเรืองของวงการหนังสือพิมพ์ ประกอบกับการให้เสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์ได้อย่างเต็มที่ภายใต้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์นี้ ก็เป็นเหตุให้หนังสือพิมพ์บางฉบับหรือนักหนังสือพิมพ์บางคน ใช้เสรีภาพจนเกินขอบเขตอันเหมาะสม ทำให้รัฐบาลเห็นความจำเป็นในการกำหนดบทควบคุมขอบเขตของหนังสือพิมพ์ขึ้น จึงมีการออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมหนังสือพิมพ์โดยตรงขึ้นเป็นครั้งแรก คือพระราชบัญญัติว่าด้วยสมุด เอกสาร และหนังสือพิมพ์ พ.ศ. 2465 กำหนดให้ผู้มีเครื่องพิมพ์ต้องขออนุญาตจากสมุหเทศาภิบาลแห่งมณฑลก่อนทำการตีพิมพ์



แม้ว่าพระราชบัญญัติว่าด้วยสมุด เอกสาร และหนังสือพิมพ์ พ.ศ. 2465 จะตราขึ้นโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อใช้เป็นกฎหมายควบคุมพฤติกรรมของหนังสือพิมพ์ การควบคุมหนังสือพิมพ์เพื่อให้เป็นไปตรมกฎหมายดังกล่าวก็ยังไม่เข้มงวดมากนัก ทำให้นักหนังสือพิมพ์ยังสามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างเสรีอย่างเดิม ในทางปฏบัติจะเน้นไปควบคุมในเรื่องการจัดตั้งโรงพิมพ์และความรับผิดชอบในการทำหนังสือพิมพ์ของเจ้าของหนังสือพิมพ์และบรรณาธิการเสียมากกว่า โดยจะใช้วิธีการปิดกิจการโรงพิมพ์ในกรณีที่สร้างความวุ่นวายปั่นป่วนมากกว่าจะลิดรอนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอย่างเคร่งครัด

ในยุคสมัยรัชกาลที่ 6 การแสดงความคิดเห็นผ่านหนังสือพิมพ์ได้รับการวางรกฐานในสามารถแสดงออกได้อย่างเสรี เมื่อเชื่อมต่อถึงตอนต้นรัชสมัยรัชกาลที่ หนังสือพิมพ์จึงยังคงมีเสรีภาพอย่างกว้างขวาง จำนวนสิ่งพิมพ์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ระหว่าง พ.ศ. 2468-2472 มีหนังสือพิมพ์และสิ่งพิมพ์ต่างๆมากถึง 121 ฉบับ

ในรัชสมัยรัชกาลที่ 7 เป็นช่วงระยะเวลาของเหตุการณ์มากมายที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เป็นช่วงที่หนังสือพิมพ์มีบทบาทสำคัญในฐานะสื่อมวลชนที่มีอิทธิพลต่อแนวความคิดทางการเมือง และเป็นเครื่องมือกระตุ้นการเคลื่อนไหวทางการเมือง กระทั่งมีการเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเป็นคร้งแรกที่มีการรับรองสิทธิเสรีภาพในการพูด การเขียน และการโฆษณา (มาตรา 14 แห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2475) แก่ประชาชน  ในขณะเดียวกันก็เป็นเหตุที่ทำให้เสรีภาพของหนังสือพิมพ์ไทยต้องเสื่อมถอยลง  จากเสรีภาพที่เคยได้รับในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์กลับถดถอยลงด้วยอำนาจทางการเมืองของรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยตั้งแต่นั้นมา

ภายหลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครองนี้ ทำให้หนังสือพิมพ์เริ่มแบ่งเป็นฝักฝ่าย คือ ฝ่ายอิสระ ฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายนิยมกษัตริย์ รัฐบาลจึงได้ออกพระราชบัญญัติสมุดเอกสารและหนังสือพิมพ์ แก้ไขเพิ่มเติมพุทธศักราช 2475 เพื่อควบคุมหนังสือพิมพ์อย่างเคร่งครัด มีการตรวจข่าวหรืเซ็นเซอร์ข่าวก่อนตีพิมพ์ หนังสือพิมพ์บางฉบับที่ไม่ปฏิบัติตามถูกสั่งให้ปิดกิจการลง แต่หลายฉบับก็หลีกเลี่ยงด้วยการเพิ่มเนื้อหาบันเทิงลงในหนังสือพิมพ์มากขึ้น

ในปี พ.ศ. 2476 ได้มีพระราชบัญญัติการพิมพ์ พุทธศักราช 2476 และมีผลให้ยกเลิกพระราชบัญญัติสมุดเอกสารและหนังสือ พ.ศ. 2470 และพระราชบัญญัติสมุดเอกสารและหนังสือพิมพ์ พ.ศ. 2475 พระราชบัญญัติการพิมพ์ พุทธศักราช 2476 นี้ได้กำหนดมาตรฐานของหนังสือพิมพ์และกำหนดบทบัญญัติควบคุมหนังสื่อพิมพ์โดยกำหนดวุฒิการศึกษาของบรรณาธิการ

นับตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบเสรีประชาธิปไตย ถึงสมัยการขึ้นสู่อำนาจทางการเมืองของจอมพล ป. พิบูลสงคราม สถานการณ์ทางการเมืองมีแต่ความขัดแย้ง แย่งชิงอำนาจมาโดยตลอด มีการตราพระราชบัญญัติการพิมพ์ พุทธศักราช 2484 เพื่อควบคุมหนังสือพิมพ์ในภาวะฉุกเฉินหรือภาวะสงครามโดยเจ้าพนักงานการพิมพ์ คือ อธิบดีกรมตำรวจทำหน้าที่ตรวจข่าวโฆษณา สั่งถอนใบอนุญาตหนังสือพิมพ์ได้ ถ้าเห็นว่าขัดต่อความสงบเรียบร้อยแบะศีลธรรมอันดีของประชาชน เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อเสรีภาพของหนังสือพิมพ์ทั้งทางตรงและทางอ้อม หนังสือพิมพ์กลายเป็นเป้าที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือแสดงอำนาจของผู้ปกครอง และกลายเป็นเพียงผู้บันทึกเหตุการณ์

ต่อมาการเมืองการปกครองภายใต้การบริหารของคณะปฏิวัติ จอมพลสฤษดิ์ ธนะจนถึงสมัย จอมพลถนอม กิตติขจร ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หนังสือพิมพ์ยังคงถูกควบคุมอย่างเข้มงวดอยู่เช่นเดิม นับว่าเป็นยุคที่หนังสือพิมพ์ถูกปิดกั้นเสรีภาพมากที่สุด รัฐบาลใช้ประกาศคณะปฏิบัติฉบับที่ 17 ในการควบคุมหนังสือพิมพ์อย่างเบ็ดเสร็จและ มีการประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองซึ่งไม่มีบทบัญญัติใดๆรับรองสิทธิเสรีภาพในการพูด การเขียน และการแสดงความคิดเห็น

ภายหลังจากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 “วันมหาวิปโยค”  หนังสือพิมพ์มีเสรีภาพมากขึ้นเพราะมีบทบาทสำคัญในการช่วยสนับสนุนการชุมนุมประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยของนิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอีกหลายแห่งทั่วประเทศ  ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ก็มีหนังสือพิมพ์ประเภทเน้นข่าวสารการเมืองเกิดขึ้นใหม่หลาย อาทิ หนังสือพิมพ์ประชาธิปไตย หนังสือพิมพ์ประชาชาติ หนังสือพิมพ์อธิปัตย์ หนังสือพิมพ์ปิตุภูมิ หนังสือพิมพ์จัตุรัส

แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงทางการเมือง จากสาเหตุความสับสนวุ่นวายและความขัดแย้งในอุดมการณ์ทางการเมือง ทำให้พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ เข้ายึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลของม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 การใช้เสรีภาพของหนังสือพิมพ์ก็เป็นอันต้องถดถอยลงอีกครั้งเป็นระยะเวลายาวนาน


ในสมัยรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหวัณ สถานการณ์ของประเทศกำลังอยู่ในช่วงการพัฒนาเศรษฐกิจตามนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจให้เป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่  ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างหนังสือพิมพ์และรัฐบาลค่อนข้างเป็นไปอย่างราบรื่น  เป็นจุดเริ่มต้นที่องค์กรหนังสือพิมพ์เริ่มเปลี่ยนแปลงรูปแบบจากข่าวการเมืองและข่าวชาวบ้านทั่วไปมาให้ความสำคัญกับข่าวสารทางเศรษฐกิจมากขึ้น และเป็นยุคที่หนังสือพิมพ์เข้าสู่วงจรธุรกิจแสวงหากำไรตามระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมอย่างชัดเจน

หนังสือพิมพ์ประเภทเศรษฐกิจการเมือง หนังสือพิมพ์ธุรกิจ และหนังสือพิมพ์เศรษฐกิจ เกิดขึ้นหลายฉบับ อาทิ ประชาชาติธุรกิจ ผู้จัดการ ฐานเศรษฐกิจ กรุงเทพธุรกิจ เส้นทางเศรษฐกิจ ธุรกิจท่องเที่ยว ไทยไฟแนนเชียล นอกจากการเสนอข่าวสารที่มีความหลากหลายมากขึ้น หนังสือพิมพ์ยังเพิ่มการเสนอข่าวสารให้เข้มข้นขึ้นกว่าเดิมด้วยการเจาะลึกเนื้อหาต่างๆ มีการเพิ่มจำนวนหน้าเป็น 32 หน้าขึ้นไป เพิ่มฉบับแยกส่วนเพื่อจัดกลุ่มเนื้อหา และเพิ่มเนื้อที่สำหรับโฆษณาสินค้า

ปัจจุบันเสรีภาพของหนังสือพิมพ์ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน พ.ศ. 2550 ต่อเนื่องมาจากรัฐธรรมนูญฉบับปีพ.ศ.2540  อย่างชัดแจ้งในมาตรา 45 โดยห้ามไม่ให้รัฐปิดกิจการหนังสือพิมพ์ ห้ามขัดขวางและปิดกั้นการเสนอข่าวสารของหนังสือพิมพ์ หรือจะตรวจข่าวเซ็นเซอร์ข่าวก่อนตีพิมพ์ไม่ได้ จะกระทำได้ก็แต่โดยอาศัยอำนาจที่ให้ไว้ในกฎหมายเฉพาะเท่านั้น

นอกจากรัฐธรรมนูญแล้ว เสรีภาพของหนังสือพิมพ์ได้พัฒนาก้าวหน้าขึ้นอีกขั้นเมื่อมีการออกพระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์พ.ศ. 2550 และยกเลิกพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ. 2484 ซึ่งให้อำนาจรัฐในการควบคุมหนังสือพิมพ์อย่างมาก รวมถึงอำนาจที่จะเพิกถอนใบอนุญาตพิมพ์หนังสือพิมพ์ได้  แต่สำหรับพรบ.จดแจ้งการพิมพ์นั้นไม่อนุญาตให้มีการเซ็นเซอร์หรือปิดกิจการหนังสือพิมพ์ไม่ว่าในกรณีใด เพียงแต่ให้อำนาจผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติออกคำสั่งสั่งห้ามไม่ให้นำสิ่งพิมพ์ใดๆที่มีลักษณะหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หรือที่มีเนื้อหากระทบต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนเข้ามาเผยแพร่ภายในประเทศเท่านั้น

ดังนั้นจึงถือได้ว่าหนังสือพิมพ์ไทยมีเสรีภาพที่ได้รับการรับรองโดยกฎหมายและปลอดจากการแทรกแซงจากภาครัฐหรือโดยอำนาจทางการเมือง แม้จะยังคงมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเที่ยงตรงและความเป็นกลางของหนังสือพิมพ์บ้างก็ตาม




เรียบเรียงเนื้อหาจาก


เสลา เรขะรุจิ. ๑ศตวรรษหนังสือพิมพ์ไทย. พิมพ์ครั้งแรก. กรุงเทพฯ : ดอกหญ้า, 2544.


Benjamin A. Batson. อวสานสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในสยาม. พิมพ์ครั้งที่3. กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2555.


สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
.(2008). เส้นทางชีวิตหนังสือพิมพ์ไทย จากวันนั้น...จวบจนวันนี้[Online]. แหล่งที่มา :http://www.tja.or.th/old/index.php?option=com_content&task=view&id=621&Itemid=76 [23 กรกฎาคม 2013].


หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ.(2010). เสรีสื่อสิ่งพิมพ์ ต้องยอมรับกฎหมาย [Online]. แหล่งที่มา     :  http://www.thannews.th.com/index.php?option=com_content&view=article&id=33288:2010-06-15-09-12-41 [26 กรกฎาคม 2013].

 

 ศิลป์ฟ้า ตันศราวุธ. ศูนย์ศึกษากฎหมายและนโยบายสื่อมวลชน. กฎหมายหมิ่ประมาท[Online].   แหล่งที่มา :http://www.thaimedialaw.org/index.php?option=com_content&view=category&layout=blog&id=3&Itemid=10&lang=th [26 กรกฎาคม 2013].