เสรีภาพของหนังสือพิมพ์

ตัวบ่งชี้หลักอีกประการหนึ่งของการไหลเวียนการสื่อสารการเมืองผ่านสื่อสารมวลชนในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ระหว่างพ.ศ. 2468 ถึง พ.ศ.2477 คือเสรีภาพชองหนังสือพิมพ์ช่วยสะท้อนระดับการไหลเวียนที่คล่องตัว สามารถสื่อสารได้อิสระอย่างทั่วถึง และผลิตสาร ( message ) บนพื้นฐานความรับผิดชอบต่อสังคมเพื่อสะท้อนความจริง ความถูกต้องและมีประโยชน์ พร้อมสามารถยกระดับคุณภาพและมารฐานวิชาชีพหนังสือพิมพ์ได้มากน้อยเพียงใด หรือไม่ ในกระแสการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2 ช่วง ได้แก่ สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และสมัยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 โดยคณะราษฎรดังนี้

เสรีภาพของหนังสือพิมพ์

                ตลอดรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว หนังสือพิมพ์ถือเป็นสื่อมวลชนแกนหลักได้สร้างกระแสการการเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง ( change agent ) ในขณะเดียวกันหนังสือพิมพ์ได้ถูกกระแสการเมืองพัดพาไปจนเกิดสภาพสั่นคลอนและบั่นทอนอุดมการณ์และจิตวิญญาณของความเป็นสถาบันสื่อสารมวลชนลงไปๆ ทุกที ดังสะท้อนได้ 2 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ การเพิกถอนใบอนุญาตการเป็นเจ้าของและบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ และการควบคุมหนังสือพิมพ์

            การเพิกถอนใบอนุญาตการเป็นเจ้าของและบรรณาธิการหนังสือพิมพ์

            ปรากฏว่า ตั้งแต่วันหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 โดยคณะราษฎร ถึงปี พ.ศ. 2477 เป็นห้วงเวลาที่หนังสือพิมพ์ต้องเผชิญกับชะตากรรม หวาดผวากับการถูกเพิกถอนใบอนุญาตการเป็นเจ้าของและบรรณาธิการ ทำให้การไหลเวียนการสื่อสารการเมืองผ่านหนังสือพิมพ์รายวันฉบับภาษาไทยกระแสหลักบางฉบับมีอาการหยุดชะงักเป็นช่วงๆ และบางฉบับก็ต้องถูกปิดตัวลงในท้ายสุด มีจำนวนสูงถึง 13 ฉบับ โดยคณะราษฎร มีข้อพิจารณา 2 ประเด็นหลัก ได้แก่ การถูกเพิกถอนใบอนุญาตชั่วคราว และการถูกสั่งปิดถาวร

ประเด็นแรก การถูกเพิกถอนใบอนุญาตชั่วคราว จากการวิเคราะห์พบว่า มีหนังสือพิมพ์ที่ถูกถอนใบอนุญาตชั่วคราว 10 ฉบับ (ร้อยละ 76.9) ได้แก่ หลักเมือง 24 มิถุนา  ไทยใหม่ สยามหนุ่ม หญิงไทย  กรุงเทพฯ วารศัพท์  ประชาชาติ บางกอกเดลิเมล์ ไทเมือง และความเห็นราษฎร ด้วยความผิดเป็นเสี้ยนหนามต่อแผ่นดิน มาตรา 6(5) อาศัยมาตรา 19(ค) ในพระราชบัญญัติสมุด เอกสารและหนังสือพิมพ์ พ.ศ. 2470 และมาตรา 19(ก) และการตรวจข่าวหนังสือพิมพ์มาตรา 9 ในพระราชบัญญัติสมุด เอกสารและหนังสือพิมพ์ แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2475 ในสมัยพระยามโนปกรณ์นิติธิดาเป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อหนังสือพิมพ์เหล่านี้ถูกสั่งปิด สักระยะหนึ่งก็ได้คืนใบอนุญาตให้ดำเนินกิจการต่อไปได้

มีข้อน่าสังเกตคือ หนังสือพิมพ์บางฉบับถูกเพิกถอนใบอนุญาตหลายครั้ง แต่ก็สามารถได้รับคืนใบอนุญาตให้ประกอบกิจการได้ต่อไป  จำนวน 2 ฉบับ ได้แก่ หนังสือพิมพ์หลักเมือง ถูกสั่งถอนใบอนุญาตถึง 3 ครั้ง ด้วยข้อหาที่นอกเหนือจากเป็นเสี้ยนหนามแผ่นดินแล้ว  ยังถูกข้อหากระทำผิดพระราชบัญญัติคอมมิวนิสต์ พ.ศ. 2476 ในสมัยพระยามโนปกรณ์นิธิธาดา เป็นนายกรัฐมนตรี และไม่ส่งรูปถ่ายให้กองโฆษณาการตรวจข่าวก่อนตามมาตรา 9 และหนังสือพิมพ์อีกฉบับหนึ่ง คือ ประชาชาติ กระทำผิดมาตรา 6 อาศัยตามมาตรา 19 เป็นการสร้างความเกลียดชังและดูหมิ่น ราชการแผ่นดิน ในพระราชบัญญัติสมุด เอกสารและหนังสือพิมพ์แก้ไข และเพิ่มเติม พ.ศ. 2475

ประเด็นที่สอง การถูกสั่งปิดถาวร หลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา หนังสือพิมพ์ในเครือบริษัท สยามฟรีเปรส จำกัด ไม่ว่าจะเป็นกรุงเทพฯ เดลิเมล์ บางกอกเดลิเมล์ และเสรีภาพ ถูกเพิกถอนใบอนุญาตและเลิกกิจการในที่สุด โดยเริ่มจากหนังสือพิมพ์กรุงเทพฯ เดลิเมล์ได้แสดงท่าทีและความคิดเห็นไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลของพระยาพหลพลพยุหเสนา หลังจากการรัฐประหารเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2476

ความขัดแย้งยิ่งทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น หนังสือพิมพ์กรุงเทพฯ หนังสือพิมพ์กรุงเทพฯ เดลิเมล์ ถูกเพิกถอนใบอนุญาต ฐานกระทำผิดไม่ส่งรูปถ่ายให้กองโฆษณาการตรวจสอบข่าวก่อน แต่ภายหลังก็ได้รับการถอนคำสั่งให้ดำเนินการต่อไปได้ จนถึงวันที่ 13 พฤศจิกายน 2476 หนังสือพิมพ์กรุงเทพฯ เดลิเมล์ ถูกสั่งให้ปิดหนังสือพิมพ์ และไม่มีโอกาสได้เปิดกิจการอีกเลย เนื่องจากพระยาศรีศราภัยพิพัฒ และนายหลุยคีรีวัต เจ้าของและผู้บริหารหนังสือพิมพ์ของบริษัท สยามฟรีเปรส จำกัด ถูกข้อหาว่ามีส่วนร่วมก่อการในกษฎบวรเดช ทั้งสองได้ถูกศาลพิเศษในขณะนั้นพิพากษาให้ประหารชีวิต แต่ได้ลดหย่อนโทษเหลือเพียงจำคุกตลอดชีวิต จึงทำให้หนังสือพิมพ์กรุงเทพฯ เดลิเมล์ปิดตัวลงไปโดยปริยาย

ในขณะเดียวกันหนังสือพิมพ์เสรีภาพ หนังสือพิมพ์พี่น้องของกรุงเทพฯเดลิเมล์ ได้ถูกเพิกถอนใบอนุญาตวันที่ 18 ตุลาคม 2476 ด้วยความผิดไม่ส่งต้นฉบับข่าวให้กองโฆษณาการตรวจสอบข่าวก่อน และอีก 2 วันต่อมาในวันที่ 20 ตุลาคม 2476 ได้รับคืนใบอนุญาต แต่ในท้ายที่สุดวันที่ 14 พฤศจิกายน 2476 หนังสือพิมพ์เสรีภาพ ต้องถูกถอนใบอนุญาตและปิดตัวตลอดไป คราวนี้ถูกตั้งข้อกล่าวหาว่า ตีพิมพ์ภาพล้อเลียน และใช้ข้อความต่อเติมเป็นการจูงใจให้ผู้อ่านเข้าใจว่า รัฐบาลพระยาหพล พลพยุหเสนา ดำเนินการไปในทางคอมมิวนิสต์ ได้ลงข่าวและเขียนบทความอันเป็นหลักฐานเป็นปรปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญ และวิธีดำเนินการของรัฐบาล อาศัยมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ. 2476

ส่วนหนังสือพิมพ์บางกอกเดลิเมล์ หนังสือพิมพ์ในเครือบริษัท สยามฟรีเปรส จำกัด ก็ถูกเพิกถอนใบอนุญาตเช่นเดียวกันในสมัยรัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนา ด้วยข้อหาว่าสร้างความเกลียดชังและดูหมิ่นราชการให้ถอนบทนำและขอขมาภายใน 24 ชั่วโมง อาศัยมาตรา 19 เพิกถอนใบอนุญาต แม้ว่าจะได้รับใบอนุญาตคืนในวันที่ 21 สิงหาคม 2476 และดำเนินการต่อมาได้โดยไม่ถูกเพิกถอนใบอนุญาตอีกก็ตาม แต่ก็ต้องปิดตัวลงอย่างถาวรตามหนังสือพิมพ์ในเครือดังกล่าวข้างต้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

                 นอกจากนี้ ยังมีหนังสือพิมพ์ทวาราวดี เป็นหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ เพิ่งตีพิมพ์ฉบับแรกเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2476 ได้ถูกสั่งยึดใบอนุญาตเจ้าของและบรรณาธิการ คือ หม่อมเจ้าพงศ์รุจา รุจวิชัย เคยเป็นบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์บางกอกการเมือง ในเครือบริษัท สยามฟรีเปรส จำกัด มาก่อน จึงถูกปิดตัวลงอย่างถาวรในท้ายสุดอีกเช่นกัน


.................................................................................................................................................

รองศาสตราจารย์ ดร. พรทิพย์ ดีสมโชค.(2011). แนวความคิดและวิธีการสื่อสารการเมื่อง. กรุงเทพฯ : สภาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, หน้า 35-40.



1 comment:

  1. Now day, everything is going to find a new but well settled and successful stream for their career. When I came to this blog, I really impressed by all the knowledge points mentioned here. Thank you for this assistance.
    ขอใบอนุญาตโฆษณาอาหาร

    ReplyDelete