การตรวจข่าว

              ตัวควบคุมแรก คือ การตรวจข่าว ปรากฏการณ์ใหม่ที่เกิดขึ้นในยุคที่เรียกขานตนเองว่า ประชาธิปไตย คือ การตรวจข่าว หรือ การเซนเซอร์ข่าว (censor) เกิดขึ้นครั้งแรกหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 หนังสือพิมพ์ได้แสดงความคิดเห็นทั้งสนับสนุน และไม่เห็นด้วยต่อคณะราษฎร ในรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดา จึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติสมุด เอกสาร และหนังสือพิมพ์ พ.ศ.2470 สั่งเพิกถอนใบอนุญาตเจ้าของและบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ที่ไม่ค่อยเห็นด้วยกับคณะราษฎร อย่างไม่ไว้หน้ากันทันทีจน “กรุงเทพฯ เดลิเมล์” หนังสือพิมพ์แกนนำออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องเสรีภาพให้แก่หนังสือพิมพ์ ดังได้ลงภาพวาดชื่อ “หวัง” เป็นผู้ชายคนหนึ่งนั่งบนโขดหินริมฝั่งทะเลในมือถือหนังสือพิมพ์ ที่ปากถูกล็อคไว้ด้วยแม่กุญแจ ที่ทะเลมีดวงอาทิตย์เขียนข้อความว่า ราษฎรทั้งหลายจะได้รับเสรีภาพโดยมุ่งหวังให้คณะราษฎรยกเลิกพระราชบัญญัติสมุด เอกสาร และหนังสือพิมพ์ พ.ศ.2470 ณ ช่วงเวลานั้น คณะราษฎรได้พยายามสร้างความนิยมและความชอบธรรมเพื่อแสดงตนว่าได้ปกครองในระบอบประชาธิปไตย อย่างน้อยก็ไม่ได้ลิดรอนเสรีภาพของหนังสือพิมพ์อย่างสิ้นเชิง จึงได้มีการตราพระราชบัญญัติสมุด เอกสาร และหนังสือพิมพ์ แก้ไขและเพิ่มเติม พ.ศ.2475 เพิ่มผ่อนคลายบรรเทาโทษลงจากการเพิกถอนใบอนุญาต เป็นการต้องถูกตรวจข่าวก่อนการตีพิมพ์ หรือเซนเซอร์ข่าวแทน เพื่อช่วยให้หนังสือพิมพ์ไม่ต้องหยุดการตีพิมพ์ ตามมาตรา 12 ความว่า

               ... มาตรา 12 เมื่อสมุหพระนครบาลหรือสมุหเทศาภิบาลได้มีคำสั่งให้หนังสือพิมพ์ใดเสนอข้อความให้เจ้าพนักงานผู้ตรวจข่าวตรวจเสียก่อน แต่บรรณาธิการหนังสือพิมพ์นั้นบังอาจขัดขืนโฆษณาหนังสือพิมพ์นั้นโดยมิได้เสนอหนังสือพิมพ์ต่อเจ้าพนักงานผู้ตรวจข่าว ท่านว่ามีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินห้าร้อยบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ...

              จากผลบังคับของมาตรา 12 ข้างต้น ในสาระบัญญัติสำคัญของการตรวจข่าว เป็นตัวบ่งชี้ถึงระดับการควบคุมการนำเสนอเนื้อหาสาระข่าวสารของหนังสือพิมพ์อย่างเข้มงวดขึ้นอีกระดับหนึ่ง เนื่องจากคณะราษฎรยังคงมีความพะวงกับความไม่มั่นคงในความเชื่อมั่นในหมู่นักการเมืองในกลุ่มอนุรักษ์นิยม หรือกลุ่มจารีตนิยม หรือกลุ่มนิยมเจ้าที่มีอยู่ทั้งในและนอกคณะราษฎร อีกทั้งยังมีกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับคณะราษฎรโดยตรง ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่ยังต้องควบคุมหนังสือพิมพ์ด้วยวิธีเชือดนุ่มๆ ด้วยการตรวจข่าวก่อนการตีพิมพ์

              การตรวจข่าว หรือเซนเซอร์ข่าว ยิ่งเพิ่มความเข้มข้นแห่งระดับการควบคุมหนังสือพิมพ์มากยิ่งขึ้น ดังสะท้อนจากช่วงที่พระยามโนปกรณ์นิติธาดาเป็นนายกรัฐมนตรี หลังการประกาศปิดสภาผู้แทนราษฎร และงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา ซึ่งเรียกเหตุการณ์นี้ว่า รัฐประหารโดยพระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 (ชาญวิทย์ เกษตรศิริ 2549) และมีแถลงการณ์ของรัฐบาล (ราชกิจจานุเบกษา 50 แผนกกฤษฎีกา 2476) ชี้แจงการกระทำดังกล่าวว่า ในคณะรัฐมนตรีได้แตกออกเป็น 2 พวก มีความเห็นแตกต่างกันและไม่สามารถจะคล้อยตามกันได้ ทั้งนี้มีความเห็นส่วนน้อยเท่านั้นที่เห็นด้วยกับนโยบายเศรษฐกิจหรือเค้าโครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐมนูธรรมที่มีลักษณะเป็นคอมมิวนิสต์ แต่ความเห็นส่วนมากมีความเห็นว่า นโยบายเศรษฐกิจนั้นเป็นอันตรายต่อประเทศ ผลการประกาศปิดสภาดังกล่าวทำให้คณะรัฐบาลที่เข้ามาปกครองประเทศโดยความเห็นของสภาเป็นอันยุติลงด้วย พระยามโนปกรณ์นิติธาดาจึงได้จัดตั้งคณะรัฐมนตรีใหม่ภายในวันเดียวกันนั้น โดยคณะรัฐมนตรีชุดใหม่นี้ประกอบด้วยบุคคลในคณะรัฐมนตรีชุดเดิม ยกเว้นหลวงประดิษฐมนูธรรม นายแนบ พหลโยธิน นายตั้ว พลานุกรม และพระยาประมวลวิทพูล ทั้งนี้บุคคลทั้งสามให้การสนับสนุนต่อเค้าโครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐมนูธรรม

              หลังจากประกาศปิดสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2476 แล้ว ทางรัฐบาลได้ควบคุมการเสนอข่าวของหนังสือพิมพ์ โดยการขอตรวจข่าวก่อน เริ่มขบวนการเซนเซอร์ข่าวจาก

              ขบวนการแรก คือ เปิดแถลงข่าวหนังสือพิมพ์ พระยาเพ็ชราสัย ศรีสวัสดิ์ สมุหพระนครบาล ได้เชิญผู้แทนหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ มาร่วมประชุมทำความเข้าใจเรื่องประกาศสั่งปิดสภาผู้แทนราษฎรไม่มีกำหนด และจัดตั้งคณะรัฐมนตรีใหม่ พร้อมมีคำกล่าวตักเตือนหนังสือพิมพ์ให้ต้องระมัดระวังในการนำเสนอข่าว และนำข่าวมาให้ตรวจหรือต้องถูกเซนเซอร์ข่าวก่อน ตามบทบังคับในพระราชบัญญัติสมุด เอกสาร และหนังสือพิมพ์ แก้ไขและเพิ่มเติม พ.ศ.2475 ดังความตอนหนึ่งว่า

              ... เป็นเวลาสำคัญที่หนังสือพิมพ์ต่างๆ จะต้องระมัดระวังเพื่ออย่าให้เกิดความเข้าใจผิด หรือ เป็นไปในทางส่งเสริมให้เกิดความไม่เรียบร้อย ถ้าหนังสือพิมพ์ใดลงข้อความที่อาจโน้มนำให้เข้าใจผิดหรือคิดเห็นในทางไม่เป็นสวัสดิภาพ หรือเป็นการก่อร้ายรัฐบาล หรือก่อให้เกิดความเข้าใจผิดแก่ประชาชน ในทางอันไม่ควรแล้ว อาจ มีผิดหรืออย่างน้อยอาจต้องถูกเซนเซอร์ข่าว นั้นตามพระราชบัญญัติสมุด เอกสาร และหนังสือพิมพ์ แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2475 ...
(“สมุหเตือนหนังสือพิมพ์ให้ระมัดระวัง” ประชาชาติ 3 เมษายน 2476 : 2)

              ขบวนการสอง คือ มีหนังสือแจ้งไปยังโรงพิมพ์ เพื่อเป็นการย้ำเตือนโรงพิมพ์จึงมีหนังสือแจ้งไปยังโรงพิมพ์ความว่า “... ห้ามพิมพ์เอกสารซึ่งแสดงไปในทางการเมืองหรือนโยบายรัฐบาล หรือเหลื่อมไปในทางลัทธิคอมมิวนิสต์ หากเอกสารใดที่สงสัยว่าจะเป็นเช่นดังกล่าว ให้นำเสนอพิจารณาเสียก่อน มิฉะนั้นอาจสั่งปิดโรงพิมพ์ทันที ...”
  (“สมุหเตือนหนังสือพิมพ์ให้ระมัดระวัง” ประชาชาติ 3 เมษายน 2476 : 2)

              ขบวนการสาม คือ ตั้ง “กรมโฆษณาการ” รัฐบาลของพระยามโนปกรณ์นิติธาดาได้จัดตั้งกรมโฆษณาการขึ้นเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2476 เพื่อเผยแพร่การดำเนินการทำงานของรัฐบาล และมีหน้าที่กลั่นกรองข่าวรัฐบาลที่จะสื่อสารไปยังประชาชนดังนั้น กรมโฆษณาการจึงเป็นผู้ให้ข่าวเพียงแหล่งเดียวแก่หนังสือพิมพ์เท่านั้นหน่วยราชการอื่นๆไม่มีสิทธิให้ข่าวแก่หนังสือพิมพ์ จนหนังสือพิมพ์ประชาชาติได้เสนอคำวิจารณ์กรมโฆษณาว่าไม่มีประโยชน์สำหรับประชาชน เนื่องจากมีการเสนอข่าวเฉพาะบางแง่บางมุมเท่านั้น เป็นการจำกัดข่าว (ประชาชาติ 30 พฤษภาคม 2476)

              ขบวนการสี่ คือ ห้ามข้าราชการประจำเขียนข่าว รัฐบาลได้มีคำสั่งห้ามข้าราชการประจำเขียนข่าวใดๆ เพื่อตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ทั่วไป เว้นแต่ว่ารัฐบาลจะได้จักสรรพื้นที่ หรือคอลัมน์เฉพาะไว้ให้ตีพิมพ์เท่านั้น


.................................................................................................................................................

รองศาสตราจารย์ ดร. พรทิพย์ ดีสมโชค.(2011). แนวความคิดและวิธีการสื่อสารการเมื่อง. กรุงเทพฯ : สภาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, หน้า 48-51.



No comments:

Post a Comment