“เสรีภาพของประชาชน” รากฐานของการสื่อสารมวลชน
ด้วยพระราชทัศนะทางการเมืองของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
ปรากฏเด่นชัดดังผลการวิเคราะห์ข้างต้น ทรงเป็น “ธรรมราชา” ที่ทรงยึด “ประชาชน”
เป็นฐานการคิดหลัก พระองค์ทรงคิดขึ้นใหม่ให้สอดรับกับบริบทของสยามประเทศในขณะนั้น
นับเป็นหัวใจสำคัญยิ่งของการสร้างชีวิตของการสื่อสารมวลชนขึ้น
สื่อสารมวลชนหลักในรัชสมัยพระองค์ก็คือ หนังสือพิมพ์
ได้โลดแล่นเป็นสื่อหลักของการสื่อสารการเมือง
และสื่อภาพยนตร์ได้ช่วยสร้างความมีชีวิตชีวาให้แก่ผู้คนในยุคนั้นด้วยรากฐานความเป็นวิชาชีพอันแท้จริง
อันเนื่องมาจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงมีพระราชปรัชญาและหลักคิดอย่างมั่นคงและมุ่งมั่นคือ “เสรีภาพของประชาชน”
รากฐานของการสื่อสารมวลชน มีแก่นสาระสำคัญหมายถึง เสรีภาพในตัวบุคคล
หลักความยุติธรรม การเปลี่ยนแปลงแบบไม่เสียเลือดเนื้อ
และการคืนอำนาจปกครองสู่ประชาชน
แก่นสาระแรก คือ
เสรีภาพในตัวบุคคล ตลอดรัชสมัยของพระองค์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงยึดหลักการของเสรีภาพในตัวบุคคลมาตั้งแต่แรกเริ่ม
ประชาชนในแผ่นดินของพระองค์มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น
เสรีภาพในการพิมพ์และเผยแพร่ข่าวสาร เสรีภาพในการศึกษาหาความรู้
เสรีภาพในการประกอบอาชีพ และในช่วงหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475
พระองค์ทรงบ่งชี้หลักการสำคัญแห่งเสรีภาพในตัวบุคคล คือ
เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ทรงยื่นข้อเสนอไปยังรัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนา 9 ข้อ
โดยข้อที่ 3 ทรงเรียกร้องให้รัฐบาลปฏิบัติตามมาตรา 14 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับวันที่ 10
ธันวาคม 2475 บัญญัติให้เสรีภาพในการพูด การเขียน การโฆษณา
เนื่องจากรัฐบาลสั่งปิดหนังสือพิมพ์ที่พูดอะไรไม่เป็นที่พอใจและคัดค้านนโยบายของรัฐบาลอย่างรุนแรง
เพื่อปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของหนังสือพิมพ์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเปรียบเทียบว่า
“ครั้งก่อนมีรัฐธรรมนูญ” ทรงหมายถึงในสมัยพระองค์ทรงปกครองด้วยสมบูรณาญาสิทธิราชย์
หนังสือพิมพ์ยังมีเสรีภาพมากกว่าช่วงเวลาหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475
ดังความระบุว่า
... ตามที่เป็นมาแล้ว
หนังสือพิมพ์ที่จะพูดอะไรไม่เป็นที่พอใจของรัฐบาลก็ถูกปิด
และหนังสือพิมพ์ที่คัดค้านนโยบายของรัฐบาลก็ต้องล้มเลิก เช่น หนังสือพิมพ์เดลิเมล์
เป็นต้น ต้องไปขออนุญาตให้หนังสือพิมพ์ออกความเห็นได้จริงๆและให้ติชมนโยบายของรัฐบาลได้จริง
และถูกปิดได้ต่อเมื่อยุยงให้เกิดการจลาจลอย่างชัดๆ เท่านั้น
เมื่อครั้งก่อนมีรัฐธรรมนูญหนังสือพิมพ์มีเสรีภาพกว่าเดี๋ยวนี้เป็นอันมาก ...
[กรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรี แถลงการณ์เรื่อง
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปกพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสละราชสมบัติ (พระนคร
: โรงพิมพ์ท่าพระจันทร์, 2478),ไม่มีเลขหน้า]
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงเสนอหลักการสำคัญแห่งเสรีภาพในตัวบุคคลอีกประการหนึ่ง
ทรงระบุไว้อย่างชัดเจนและทรงเน้นย้ำเป็นอย่างยิ่ง คือ “มีความเสรีภาพในการเมือง”
ครอบคลุมถึงให้ประชาชนได้มีสิทธิที่จะออกเสียงในวิธีดำเนินการปกครองประเทศ
และนโยบายต่างๆ
อันเป็นผลได้เสียแก่ประชาชนทั่วไปเพื่อมีโอกาสแสดงความคิดเห็นสะท้อนความต้องการของประชาชนโดยแท้จริง
พระองค์ทรงมีความศรัทธาเลื่อมใสในวิธีการดังกล่าวเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว
พร้อมทั้งค้นหาวิธีการจัดการเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศสยามให้เป็นไปตามรูปแบบข้างต้น
ทรงมุ่งเน้นว่า “โดยมิให้มีการกระทบกระเทือนอันร้ายแรง” ดังปรากฏในพระราชหัตถเลขาทรงสละราชสมบัติของพระองค์
เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2477 ใจความตอนหนึ่งว่า
...
เพื่อให้ประชาราษฎรได้มีสิทธิที่จะออกเสียงในวิธีดำเนินการปกครองประเทศและนโยบายต่างๆ
อันเป็นผลได้เสียแก่ประชาชนทั่วไป
ข้าพเจ้ามีความเลื่อมใสในวิธีการเช่นนั้นอยู่แล้ว และกำลังดำริจะจัดการเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศสยามให้เป็นไปตามรูปนั้นโดยมิให้มีการกระทบกระเทือนอันร้ายแรง
...
...
แต่ความพยายามของข้าพเจ้าไร้ผล
โดยเหตุที่ผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองหาได้กระทำให้บังเกิดมีความเสรีภาพในการเมืองอย่างบริบูรณ์ขึ้นไม่
และมิได้ฟังความคิดเห็นของราษฎรโดยแท้จริง ...
...
ข้าพเจ้าเห็นว่าคณะรัฐบาลและพวกพ้องใช้วิธีการปกครองซึ่งไม่ถูกต้องตามหลักการของเสรีภาพในตัวบุคคล
และหลักความยุติธรรมตามความเข้าใจและยึดถือของข้าพเจ้า .. (พระราชหัตถเลขาทรงสละราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2477)
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงมีความเข้าใจอย่างถ่องแท้และมีความศรัทธาเลื่อมใสในการนำหลักการประชาธิปไตยสู่การปฏิบัติจริง
ซึ่งให้ประชาชนได้มีสิทธิออกเสียงในวิธีดำเนินการปกครองประเทศและนโยบายต่างๆ
อันเป็นผลได้เสียแก่ประชาชนทั่วไป และต้องฟังความคิดเห็นของประชาชน
นับเป็นวิถีทางแห่งประชาธิปไตยที่เรียกว่า มติมหาชน (public opinion) โดยเฉพาะพระองค์ทรงมีพระขัตติยมานะอย่างแรงกล้าต่อสู้เรียกร้องเพื่อให้มีการออกเสียงประชามติ
(referendum) เป็นวิธีการหนึ่งที่เปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีสิทธิแสดงซึ่งเจตนาของตน
ปกติมักจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตราใดมาตราหนึ่ง
พระองค์ทรงระบุว่า “ขอให้เปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญให้เข้ารูปประชาธิปไตยอันแท้จริง
เพื่อให้เป็นที่พอใจแก่ประชาชน”
ดังความตอนหนึ่งในพระราชหัตถเลขาทรงสละราชสมบัติของพระองค์ ความว่า
...
เมื่อข้าพเจ้าได้ร้องขอให้เปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญให้เข้ารูปประชาธิปไตยอันแท้จริงเพื่อให้เป็นที่พอใจแกประชาชน
คณะรัฐบาลและพวกซึ่งกุมอำนาจอยู่บริบูรณ์ในเวลานั้นก็ไม่ยินยอม
ข้าพเจ้าได้ร้องขอให้ราษฎรได้มีโอกาสออกเสียง
ก่อนที่จะเปลี่ยนหลักการและนโยบายอันสำคัญ มีผลเสียแก่พลเมือง รัฐบาลก็ไม่ยินยอม
.. (พระราชหัตถเลขาทรงสละราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2477)
แก่นสาระที่สอง คือ
หลักความยุติธรรม ตามความหมาย “เสรีภาพของประชาชน” กินความถึงเสรีภาพในตัวบุคคล
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงได้เพิ่มเติมหลักความยุติธรรม
เพื่อให้ความหมายของเสรีภาพของประชาชนสมบูรณ์ครบถ้วนยิ่งขึ้น ทรงหมายถึง
ความเสมอภาคทั่วหน้ากันทางการเมืองของประชาชนทั้งในด้านการออกเสียงเลือกตั้งและการสมัครรับเลือกตั้งในตำแหน่งต่างๆที่กำหนดไว้ในกฎหมายหรือรัฐธรรมนูญของประเทศ
รวมทั้งให้โอกาสต่อสู้คดีในศาลแม้ในกรณีที่ประชาชนถูกกล่าวหาว่าทำความผิดทางการเมือง
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงมีพระวิริยะอุตสาหะนำหลักความยุติธรรมเพื่อต่อสู้เรียกร้องให้รัฐบาลของพระยาพหลพลพยุหเสนามีการกระจายการเลือกแต่งตั้งสมาชิกสภา
ประเภทที่ 2 อย่างเสมอภาคทั่วหน้ากัน มิใช่เลือกเฉพาะแต่พวกพ้องของตนเท่านั้น
โดยไม่คำนึงถึงความรู้ความสามารถ
แต่รัฐบาลชุดดังกล่าวก็มิได้ยอมปฏิบัติตามคำร้องขอของพระองค์
และคณะรัฐบาลข้างต้นได้เพิ่มระดับความรุนแรงที่พระองค์ทรงเรียกว่า “ในทางที่ยุติธรรมของโลก”
คือ ไม่ให้โอกาสแก่บุคคลที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดทางการเมืองได้ต่อสู้คดีในศาล
รัฐบาลได้ชำระคดีโดยคณะกรรมการอย่างลับไม่เปิดเผย
เป็นวิธีการที่พระองค์ไม่เคยใช้เมื่ออำนาจอันสิทธิขาดยังอยู่ในพระหัตถ์ของพระองค์
ปรากฏอยู่ในพระราชหัตถเลขาทรงสละราชสมบัติของพระองค์ ความตอนหนึ่งว่า
... จากรัฐธรรมนูญทั้ง 2 ฉบับ จะพึงเห็นได้ว่า
อำนาจที่จะดำเนินนโยบายต่างๆนั้นจะตกอยู่แก่คณะผู้ก่อการและผู้ที่สนับสนุนเป็นพวกพ้องเท่านั้น
มิได้ตกอยู่แก่ผู้แทนซึ่งราษฎรเป็นผู้เลือก เช่นในฉบับชั่วคราวแสดงให้เห็นว่า
ถ้าผู้ใดไม่ได้รับความเห็นชอบของผู้ก่อการจะไม่ให้เป็นผู้แทนราษฎรเลยฉบับถาวร
ได้มีการเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้นตามคำร้องขอของข้าพเจ้าแต่ก็ยังให้มีสมาชิกซึ่งตนเลือกเข้ามากำกับอยู่ในสภาผู้แทนราษฎรถึงครึ่ง
1 การที่ข้าพเจ้าได้ยินยอมให้มีสมาชิก 2 ประเภท ก็โดยหวังว่าสมาชิกประเภทที่ 2
ซึ่งข้าพเจ้าตั้งนั้นจะเลือกจากบุคคลที่รอบรู้การงานและชำนาญในวิธีดำเนินการปกครองประเทศโดยทั่วไปไม่จำกัดว่าเป็นพวกใดคณะใดเพื่อจะได้ช่วยเหลือนำนำทางให้แก่สมาชิกซึ่งราษฎรเลือกตั้งขึ้นมา
แต่ครั้นเมื่อถึงเวลาที่จะตั้งสมาชิกประเภทที่ 2 ขึ้น
ข้าพเจ้าหาได้มีโอกาสแนะนำในการเลือกเลย
และคณะรัฐบาลก็เลือกเอาแต่เฉพาะผู้ที่เป็นพวกของตนเกือบทั้งนั้น
มิได้คำนึงถึงความชำนาญ
... นอกจากนี้รัฐบาลได้ออกกฎหมายใช้วิธีปราบปรามบุคคลซึ่งถูกหาว่าทำความผิดทางการเมืองในทางที่ผิดยุติธรรมของโลก
คือ ไม่ให้โอกาสต่อสู้กันในศาล มีการชำระโดยคณะกรรมการอย่างลับไม่เปิดเผย
ซึ่งเป็นวิธีการที่ข้าพเจ้าไม่เคยใช้ในเมื่ออำนาจอันสิทธิขาดยังอยู่ในมือของข้าพเจ้าเอง
และข้าพเจ้าได้ร้องขอให้เลิกใช้วิธีนี้ รัฐบาลก็ไม่ยอม ... (พระราชหัตถเลขาทรงสละราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2477)
แก่นสาระที่สาม คือ
การเปลี่ยนแปลงการปกครองแบบไม่เสียเลือดเสียเนื้อ สยามประเทศมีการปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาจนถึงในรัชสมัยรัชกาลที่
7 ระหว่าง พ.ศ.2468 ถึง พ.ศ.2475
เมื่อกาลสมัยของโลกมีการเปลี่ยนแปลงสู่กระแสประชาธิปไตย
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงเล็งเห็นและมีสายพระเนตรอันยาวไกล
ที่จะทรงจัดการเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศสยามสู่ระบอบประชาธิปไตยตามรอยพระยุคลบาทของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในการทรงปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดินแบบปฏิวัติ
“พลิกแผ่นดิน” ได้โดยเรียบร้อยปราศจากการจลาจล หรือ ไม่เสียเลือดเนื้อ
มิได้ทรงใช้ความรุนแรง แต่ทรงใช้สันติธรรม ดังผลการวิเคราะห์ความเป็น “ธรรมราชา”
หลักคิดสำคัญของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในตอนต้นของบทที่ 2
แนววิธีการเปลี่ยนแปลงการปกครองแบบไม่เสียเลือดเนื้อ
ยิ่งได้รับการยืนยันอย่างหนักแน่นมากยิ่งขึ้น
เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงอรรถาธิบายอย่างแจ้งชัดว่า
ทรงมีพระราชดำริจัดการเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศให้เป็นไปตามรูปแบบประชาธิปไตยอันมีรัฐธรรมนูญเหมือนนานาประเทศทั้งหลาย
โดยทรงให้ความสำคัญและทุ่มเทความพยายามอย่างยิ่งยวดต่อประเด็นที่พระองค์ทรงเรียกว่า
“มิให้มีการกระทบกระเทือนอันร้ายแรง”
“เพื่อหวังความสงบราบคาบในประเทศ” และ
“ได้พยายามช่วยเหลือในการที่จะรักษาความสงบราบคาบเพื่อให้การเปลี่ยนแปลงอันสำคัญนั้นเป็นไปโดยราบรื่นที่สุดที่จะเป็นได้”
และ “ความหวังที่จะทำให้การเปลี่ยนแปลงต่างๆเป็นไปได้โดยราบรื่น”
ดังความตอนหนึ่งในพระราชหัตถเลขาทรงสละราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2477 ความว่า
... เพราะเข้าใจว่าพระยาพหลฯ
และพวกจะสถาปนารัฐธรรมนูญตามแบบอย่างประเทศทั้งหลาย ซึ่งใช้การปกครองตามหลักนั้น
เพื่อให้ประชาราษฎรได้มีสิทธิที่จะออกเสียงในวิธีดำเนินการปกครองประเทศและนโยบายต่างๆอันเป็นผลได้เสียแก่ประชาชนทั่วไป
ข้าพเจ้ามีความเลื่อมใสในวิธีการเช่นนั้นอยู่แล้ว
และกำลังดำริจะจัดการเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศสยามให้เป็นไปตามรูปนั้น
โดยมิให้มีการกระทบกระเทือนอันร้ายแรง ...
...
ข้าพเจ้าจึงเห็นควรโน้มตามความประสงค์ของผู้ก่อการยึดอำนาจนั้นได้ เพื่อหวังความสงบราบคาบในประเทศ
ข้าพเจ้าได้พยายามช่วยเหลือในการที่จะรักษาความสงบราบคาบเพื่อให้การเปลี่ยนแปลงอันสำคัญนั้น
เป็นไปโดยราบรื่นที่สุดที่จะเป็นได้ แต่ความพยายามของข้าพเจ้าไร้ผล ...
นอกจากนี้คณะผู้ก่อการบางส่วนได้มีความคิดที่จะเปลี่ยนแปลงโครงการเศรษฐกิจของประเทศอย่างใหญ่หลวง จึงเกิดแตกร้าวกันขึ้นเองในคณะผู้ก่อการและพวกพ้อง จนต้องมีการปิดสภาและงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา โดยคำแนะนำของคณะรัฐบาลซึ่งถือตำแหน่งอยู่ในเวลานั้น ทั้งนี้เป็นเหตุให้มีการปั่นป่วนในการเมือง ต่อมาพระยาพหลฯ กับพวกก็กลับเข้ามาทำการยึดอำนาจโดยกำลังทหารเป็นครั้งที่ 2 และแต่นั้นมา ความหวังที่จะทำให้การเปลี่ยนแปลงต่างๆเป็นไปโดยราบรื่น ก็ลดน้อยลงเนื่องจากเหตุที่คณะผู้ก่อการมิได้กระทำให้มีเสรีภาพในการเมืองอันแท้จริง และประชาชนไม่ได้โอกาสออกเสียงก่อนที่จะดำเนินนโยบายอันสำคัญต่างๆ จึงเป็นเหตุให้มีการกบฏขึ้น ถึงกับต้องต่อสู้ฆ่าฟันกันเองระหว่างคนไทย (พระราชหัตถเลขาทรงสละราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2477)
ในความเป็นจริงที่เกิดขึ้นสวนทางกับแนววิธีการเปลี่ยนแปลงการปกครองแบบไม่เสียเลือดเนื้อของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวอย่างสิ้นเชิง
คณะราษฎรได้ทำการยึดอำนาจการปกครองโดยใช้กำลังทหารในวันที่ 24 มิถุนายน 2475
พระองค์ทรงเรียกคณะราษฎรว่า “ผู้ก่อการรุนแรง” หรือ “ผู้ก่อการยึดอำนาจ” หรือ
“ผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง” หรือ “คณะผู้ก่อการและผู้ที่สนับสนุนเป็นพวกพ้อง”
หรือ “คณะผู้ก่อการ” เพราะพระองค์ทรงถือว่า
การเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยใช้กำลังทหารในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 เป็นเหตุรุนแรง
ทรงกล่าวถึงเหตุการณ์นี้ว่า “เมื่อมามีเหตุรุนแรงขึ้นเสียแล้ว”
และต่อมาพระยาพหลพลพยุหเสนากับพวกก็กลับเข้าทำการยึดอำนาจโดยกำลังทหารอีกเป็นครั้งที่
2 เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2476 หลังจากนั้นได้เกิดการกบฏขึ้นคือ
กบฏบวรเดชเมื่อเดือนตุลาคม 2476 พระองค์ทรงระบุสาเหตุของการกบฏนี้ว่า
“...เนื่องจากเหตุที่คณะผู้ก่อการมิได้กระทำให้มีเสรีภาพในการเมืองอันแท้จริง
และประชาชนไม่ได้โอกาสออกเสียงก่อนที่จะดำเนินนโยบายอันสำคัญต่างๆจึงเป็นเหตุให้มีการกบฏขึ้น...”
พร้อมทั้งพระองค์ทรงชี้ให้เห็นผลลัพธ์ของกบฏบวรเดชครั้งนี้ว่า “...ถึงกับต้องต่อสู้ฆ่าฟันกันเองระหว่างคนไทย...”
และมีการปราบปรามบุคคลที่กระทำผิดทางการเมืองถือเป็นเสี้ยนหนามของแผ่นดินอย่างไม่ขาดสาย
นับเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองครั้งใหญ่ที่มีความรุนแรงและเสียเลือดเนื้ออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
แก่นสาระที่สี่
คือ การคืนอำนาจปกครองสู่ประชาชน พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงดำรงรักษาอยู่ใน “ความเป็นธรรมราชา” มาตลอด
ใช้อำนาจปกครองประเทศแทนประชาชนด้วยความเป็นธรรมเสมอมา
ครั้นเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475
โดยใช้กำลังทหารยึดอำนาจถึงสองครั้งสองคราว
พร้อมทั้งพระองค์ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยว่า คณะรัฐบาลของพระยาพหลพลพยุหเสนา
ทรงเรียกว่า “คณะรัฐบาลและพวกพ้อง”
ใช้วิธีการปกครองซึ่งไม่ถูกต้องตามหลักการของเสรีภาพในตัวบุคคล
และหลักความยุติธรรม พระองค์จึง “มีความเต็มใจที่จะสละอำนาจ” อันเป็นของพระองค์อยู่แต่เดิม
“ให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป” และทรงได้ชี้ประเด็นให้ทุกคนพึงสังวรเตือนใจอยู่เสมอว่า อำนาจทั้งหลายที่เป้นของประชาชน
ประชาชนทุกคนต้องไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของตนให้แก่ผู้ใด คณะใดโดยเฉพาะ เพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิขาดและโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาชนเป็นอันขาด
ดังใจความหลักอมตะในพระราชหัตถเลขาทรงสละราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2477ความหลักว่า
... ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิมให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด คณะใดโดยเฉพาะ เพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิขาดและโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร ... (พระราชหัตถเลขาทรงสละราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2477)
ผลจากการวิเคราะห์พระราชปรัชญาและหลักการคิดของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
ก็คือ “เสรีภาพของประชาชน”
ย่อมเป็นรากฐานสำคัญต่อการพระราชทานพระราชกุศโลบายให้การสื่อสารมวลชนได้มีเสรีภาพอย่างแท้จริง
และสามารถเจริญวัฒนาแบบยั่งยืนสืบต่อไป
.................................................................................................................................................
รองศาสตราจารย์ ดร. พรทิพย์ ดีสมโชค.(2011). แนวความคิดและวิธีการสื่อสารการเมื่อง. กรุงเทพฯ : สภาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, หน้า 157-168.
No comments:
Post a Comment