การเพิกถอนใบอนุญาตชั่วคราวและการปิดกิจการ

              การเพิ่มระดับการควบคุมหนังสือพิมพ์อย่างจริงจังและเข้มงวดขึ้น นอกจากการตรวจข่าว หรือเซนเซอร์ข่าวเป็นตัวควบคุมแรก ดังกล่าวไปแล้ว ยังมีตัวเร่งอัตราการควบคุมหนังสือพิมพ์ให้บีบตัวสูงขึ้น เป็นตัวควบคุมที่สอง คือ การเพิกถอนใบอนุญาตชั่วคราว และปิดกิจการอย่างดุเดือด เลือดพล่าน ตาต่อตา ฟันต่อฟัน

              ด้วยความเบ่งบานแตกดอกออกผลของความมีเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตย หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 หนังสือพิมพ์เป็นดัชนีบ่งชี้ภาพดังกล่าวได้อย่างชัดเจน ด้วยปริมาณหนังสือพิมพ์รายวันเกิดขึ้นใหม่สูงถึง 56 ฉบับ ตลอดรัชกาลที่ 7 แต่ดินแดนแห่งเสรีภาพที่หนังสือพิมพ์ฝันหวานไว้นั้น กำลังถูกเชือดนิ่มๆ จากมาตรการตรวจข่าว หรือเซนเซอร์ข่าว ประกอบกันประเด็นข่าวร้อนทางการเมืองก็เดือดพล่าน ได้รุมเร้าเข้ามาไม่ว่าจะเป็นเรื่องความแตกต่างและแตกแยกทางความคิดภายในคณะกรรมการราษฎรที่บริหารประเทศระหว่าง 2 ขั้วใหญ่ ได้แก่ กลุ่มจารีตนิยม หรือ กลุ่มอนุรักษ์นิยม หรือ กลุ่มค่อนข้างโอนเอียงนิยมกษัตริย์ หรือ กลุ่มนิยมเจ้า โดยมีพระยามโนปกรณ์นิติธาดา เป็นผู้นำความคิด ส่วนอีกกลุ่มหนึ่ง คือ กลุ่มหลวงประดิษฐมนูธรรม มีแนวความคิดสังคมนิยมแบบประชาธิปไตย โดยมีหลวงประดิษฐมนูธรรมเป็นผู้นำกลุ่มความคิด และพระยาพหลพลพยุหเสนาสนับสนุน ในขณะที่การเมืองภายในคณะกรรมการราษฎรยังคุกรุ่นอยู่ และเมื่อพระยามโนปกรณ์นิติธาดาได้เป็นนายกรัฐมนตรี และปิดสภา ยกเว้นรัฐธรรมนูญฉบับประกาศเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2475 บางมาตรา อันเนื่องมาจากการพิจารณาเค้าโครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐมนูธรรม เมื่อการเมืองไม่นิ่งในขณะที่หนังสือพิมพ์พร้อมที่จะนำเสนอข่าวอย่างเสรี แม้ถูกตีตรวนในขั้นแรกด้วยการถูกตรวจข่าว หรือเซนเซอร์ข่าวก็ตาม ก็ไม่สามารถจะสกัดกั้นพลังเสรีภาพของของหนังสือพิมพ์ไว้ได้ โดยการลงข่าวและเสนอความคิดเห็นผ่านคอลัมน์ต่างๆ เพื่อโต้ตอบกลับรัฐบาลในทันทีทันใด รัฐบาลก็ตอบโต้กลับทันควันเช่นกัน ด้วยการสั่งเพิกถอนใบอนุญาตชั่วคราวหรือสั่งปิดถาวรดังผลการวิเคราะห์ข้างต้น จึงถือเป็นปรากฏการณ์การลงโทษที่เรียกว่า ดุเดือด เลือดพล่าน ตาต่อตา ฟันต่อฟัน

              การเพิ่มระดับการลงโทษหนังสือพิมพ์อย่างดุเดือด เลือดพล่าน ตาต่อตา ฟันต่อฟัน เช่นนี้ ยิ่งเพิ่มมากขึ้น หลังจากการรัฐประหารโดยพระยาพหลพลพยุหเสนาเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2476 และพระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นนายกรัฐมนตรี รวมทั้งได้เกิดกบฏบวรเดชในเดือนตุลาคม 2476 สภาวการณ์ทางการเมืองขณะนั้นตรึงเครียด ผันผวน แตกแยก และสั่นคลอนอีกระลอกหนึ่ง หนังสือพิมพ์ได้กลายมาเป็นตัวละครเด่น หรือ ตัวแบ่งขั้วอำนาจการเมืองที่ถูกระบุ หรือตีตราว่าเป็นหนังสือพิมพ์สังกัดขั้วอำนาจการเมืองใหม่ที่สนับสนุนรัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนาอย่างเด่นชัดหนังสือพิมพ์หลักๆ ก็คือ หนังสือพิมพ์ประชาชาติ ศรีกรุง รวมทั้งหนังสือพิมพ์ที่ออกโดยคณะราษฎร ได้แก่ หนังสือพิมพ์เทิดรัฐธรรมนูญ 24 มิถุนา และ สจฺจํฯ กับหนังสือพิมพ์ขั้วอำนาจหนังสือพิมพ์กษัตริย์นิยม หรือ หนังสือพิมพ์ที่ไม่สนับสนุนรัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนา หนังสือพิมพ์ขั้วอำนาจการเมืองหลังนี้มักถูกสั่งเพิกถอนใบอนุญาตชั่วคราว หรือปิดกิจการถาวรอยู่เป็นประจำยิ่งทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นหลังเกิดกบฏบวรเดชขึ้นในเดือนตุลาคม 2476 พระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรีและผู้บัญชาการทหารบก ได้มีคำสั่งอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457 ห้ามหนังสือพิมพ์ลงข่าวสารการเมืองก่อนที่เจ้าหน้าที่จะได้ตรวจและอนุญาต (กวช.(2) สร. 0201.92/10, สำเนา หนังสือ พ.ล.พระยาพหลพลพยุหเสนา ผู้บัญชาการทหารบก แจ้งความมายังผู้ทำการแทนพระสมุหพระนครบาล 17 ตุลาคม 2476) โดยมุ่งเป้ามาที่หนังสือพิมพ์ในเครือบริษัทสยามฟรีเปรส เป็นหลัก มีผลเชื่อมโยงมาจากพระยาศราภัย พิพัฒและนายหลุย คีรีวัต ผู้จัดการและผู้อำนวยการหนังสือพิมพ์ในกลุ่มบริษัทสยามฟรีเปรส เป็นผู้ร่วมก่อการกบฏบวรเดชขึ้น รัฐบาลได้จัดตั้งศาลพิเศษเพื่อพิจารณาโทษผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งพระยาศราภัยพิพัฒและนายหลุย คีรีวัต ถูกตัดสินว่าเป็นขบถต่อราชอาณาจักร ถูกตัดสินประหารชีวิต แต่ในที่สุดได้รับลดโทษเหลือจำคุกตลอดชีวิต นอกจากนี้นักหนังสือพิมพ์ของหนังสือพิมพ์กรุงเทพฯเดลิเมล์ 2 คน ได้แก่ นายเทอญ มหาเปารยะ และนายชะอ้อน อำพล ยังถูกจับกุมด้วยข้อหาเดียวกัน จึงมีผลให้หนังสือพิมพ์ในเครือบริษัทสยามฟรีเปรสต้องปิดตัวลงอย่างถาวร

              หนังสือพิมพ์ในช่วงหลังการเกิดกบฏบวรเดชแล้ว ก็ยังปรากฏภาพการสั่งปิดหนังสือพิมพ์ชั่วคราวอย่างไม่ขาดสาย อันเนื่องมาจากข้อหาที่กองโฆษณาการห้าม หรือ ไม่ส่งต้นฉบับข่าวสารการเมืองให้กองโฆษณาการตรวจเสียก่อน ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ไทเมือง ความเห็นราษฎร หลักเมือง เสรีภาพ รัฐบาลได้ให้อำนาจแก่กระทรวงมหาดไทยในการสั่งปิดหนังสือพิมพ์ก่อนที่จะนำเสนอคณะรัฐมนตรี หนังสือพิมพ์จึงตกอยู่ในภาวะถูกสั่งปิด 2-3 วัน หรือยาวกว่านั้น เตือนและดูความประพฤติ แล้วสั่งให้เปิดตีพิมพ์ได้ใหม่ หนังสือพิมพ์ที่ถูกสั่งปิดชั่วคราวมักจะซ้ำหน้าเดิมๆ มีผลให้สภาพการณ์ของการไหลเวียนการสื่อสารการเมืองผ่านหนังสือพิมพ์หยุดชงักอย่างกะทันหันขาดช่วง ไม่ต่อเนื่อง ทำให้สภาพคล่องในการไหลเวียนการสื่อสารการเมืองต่ำ วงจรชีวิตของหนังสือพิมพ์สั้น อาการของหนังสือพิมพ์ในช่วงนี้อาจเรียกว่า “หนังสือพิมพ์ลักปิด-ลักเปิด” รวมทั้ง “หนังสือพิมพ์ถูกคุมกำเนิด” เนื่องจาก รัฐบาลมีนโยบายไม่ออกใบอนุญาตให้แก่เจ้าของและบรรณาธิการรายใหม่ ทั้งๆที่มีผู้ประสงค์ยื่นขอเพื่อออกหนังสือพิมพ์ฉบับใหม่เป็นจำนวนมาก โดยให้เหตุผลว่า มีหนังสือพิมพ์จำนวนมากฉบับแล้ว ถ้าอนุญาตอีกจะยากแก่การควบคุม (กจช.(2) สร. 0201.92/16 หนังสือนายดำริห์ ปัทมะศิริ นักหนังสือพิมพ์เรียนเลขาธิการคณะรัฐมนตรี 12 ธันวาคม 2476)


.................................................................................................................................................

รองศาสตราจารย์ ดร. พรทิพย์ ดีสมโชค.(2011). แนวความคิดและวิธีการสื่อสารการเมื่อง. กรุงเทพฯ : สภาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, หน้า 52-54.



No comments:

Post a Comment